แตะที่ไอคอนเพื่อดูเมนูเพิ่มเติม

der Kasus กรณีในภาษาเยอรมัน

der Kasus

กรณี Kasus หรือ Fall
ในภาษาเยอรมันเป็นชื่อเรียกกรณีต่างๆ ที่คำนำหน้าคำนาม (Artikel) หรือสรรพนาม (Pronomen) จะมีการเปลี่ยนหรือผันรูปไป เมื่ออยู่ในกรณีที่ต่างกันหรือทำหน้าที่ที่ต่างกัน เช่น เมื่อเป็นผู้กระทำ หรือเป็นประธาน เมื่อเป็นกรรมตรง หรือเป็นกรรมรอง หรือแม้แต่เมื่อแสดงความเป็นเจ้าของ

นอกจากการที่คำสรรพนาม (ich ฉัน, du เธอ, er เขาผู้ชาย) จะมีการเปลี่ยนรูปเมื่อทำหน้าที่ที่ต่างกัน เช่น
เมื่อ “ฉัน” หรือ “ich” ทำหน้าที่เป็นประธาน จะอยู่ในรูป ich
เมื่อต้องทำหน้าที่เป็นกรรมตรงก็จะอยู่ในรูป mich
หรือถ้าเป็นกรรมรองก็จะมีการเปลี่ยนรูปไปเป็น mir แทน ในภาษาเยอรมัน นอกจากคำสรรพนามที่จะมีการผันรูปแล้ว
Artikel หรือคำนำหน้าคำนามแบบเจาะจง: der, die, das และไม่เจาะจง ein, eine ก็จะมีการผันหรือเปลี่ยนรูปไปด้วยเช่นกัน เมื่อทำหน้าที่ต่างกัน

สาเหตุที่ต้องมีการผันหรือเปลี่ยนรูปนั้นเป็นเพราะว่า

ภาษาเยอรมันไม่ได้มีกฏตายตัวในตำแหน่งการวางคำนาม ซึ่งบางครั้งประธานอาจจะไม่ได้ขึ้นต้นประโยค และมีการสลับตำแหน่งอยู่ระหว่างประโยค

Artikel ที่เปลี่ยนไปตามกรณีจะทำให้เราแยกได้ว่า คำนามไหนมีหน้าที่อะไร

นอกจากนี้คำกริยาบางคำ ยังต้องใช้เฉพาะกับกรณีเท่านั้น หรือเรียกได้ว่าต้องใช้เฉพาะกับกรรมตรง หรือกรรมรองเท่านั้น
เช่น danken ขอบคุณ ต้องใช้กับ Dativ เท่านั้น
เมื่อต้องการพูดว่า ฉันขอบคุณเธอ จะพูดว่า
👉 Ich danke dir. (Dativ ของ du) ✅
ห้ามพูดว่า Ich danke dich. ❌ โดยเด็ดขาด
การเรียนรู้การผันรูปของคำ สามารถเรียนรู้ได้โดยการท่องจำ หรือจดจำตารางของการผันรูปให้แม่นยำตั้งแต่เริ่มเรียน ซึ่งในอนาคตจะส่งผลให้สามารถสร้างประโยคได้ง่ายมากขึ้น

กรณีในภาษาเยอรมันจะแบ่งได้เป็นทั้งหมด 4 กรณี หรือที่เรียกว่า die 4 Fälle ซึ่งได้แก่
der Nominativ - เมื่อคำนั้นเป็นประธานของประโยค หรือเป็นผู้กระทำ
der Genitiv - ใช้เพื่อบ่งชี้แสดงความเป็นเจ้าของ
der Dativ - เมื่อคำนั้นเป็นกรรมรอง หรือไม่ได้ถูกกระทำโดยตรง
der Akkusativ - เมื่อคำนั้นเป็นกรรมตรงของประโยค หรือถูกกระทำโดยตรง

der Nominativ

ตัวย่อ Nov. คือกรณี ที่คำนามนั้นเป็นประธาน หรือผู้กระทำเท่านั้น หรือเรียกได้อีกอย่างว่าเป็นรูปปกติของคำนามที่จะไม่มีการผันใดๆ
จะตั้งคำถามประโยคด้วย
Wer oder was?
อาจไม่เสมอไปในภาษาเยอรมันที่คำที่ขึ้นต้นประโยคต้องเป็นประธานเพียงเท่านั้น เพราะฉะนั้นแล้ว เราจึงต้องยึดกรณี หรือ Kasus เป็นหลัก

ตัวอย่างประโยคของ Nominativ

Ich rufe dich. ฉันเรียกเธอ
ฉันเป็นประธาน
เมื่อเป็นคำถาม 👉 Wer ruft dich? ใครเรียกเธอ
ตอบ Ich.

Sie liebt ihn. เธอ/หล่อนรักเขา
เธอเป็นประธาน
เมื่อเป็นคำถาม 👉 Wer liebt ihn? ใครรักเขา
ตอบ Sie.

Wir fahren mit dem Zug. เราเดินทางด้วยรถไฟ
เราเป็นประธาน
เมื่อเป็นคำถาม 👉 Wer fährt mit dem Zug? ใครเดินทางด้วยรถไฟ
ตอบ Wir.

ตาราง Nominativ

ich 👉 ฉัน
du 👉 เธอ
er 👉 เขาผู้ชาย
sie 👉 เขาผู้หญิง
es 👉 มัน หรือคำนามที่เป็นเพศกลาง
Sie 👉 คุณ (รูปสุภาพ)
wir 👉 พวกเรา
ihr 👉 พวกเธอ
sie 👉 พวกเธอ

bestimmter Artikel

der 👉 maskulin
das 👉 neutral
die 👉 feminin
die 👉 plural

unbestimmter Artikel

ein 👉 maskulin
ein 👉 neutral
eine 👉 feminin

der Genitiv

ตัวย่อ Gen. คือ กรณีที่บ่งชี้ หรือแสดงความเป็นเจ้าของ เช่น
Das ist ein Buch meines Bruders.

ตั้งคำถามด้วย Wessen?

ตัวอย่างประโยคของ Genitiv

Das ist die Brille meines Vaters. นั้นคือแว่นตาของพ่อฉัน

คำถาม Wessen Brille ist das? ตอบ Meines Vaters.

Das ist das Buch meiner Schwester. นั่นคือหนังสือของพี่สาวฉัน

คำถาม Wessen Buch ist das. ตอบ Meiner Schwester.

ตาราง Genitiv

bestimmter Artikel

des 👉 +-s maskulin
des 👉 +-s neutral
der 👉 feminin
der 👉 plural

unbestimmter Artikel

eines 👉 +-s maskulin
eines 👉 +-s neutral
einer 👉 feminin
ใน Genitiv คำนาม maskulin และ neutral จะมีการเติม -s ลงไปที่ท้ายคำนามนั้นๆด้วยเสมอ เช่น
der Vater 👉 des Vaters ของพ่อ
das Kind 👉 des Kinds ของเด็กคนนั้น

der Dativ

ตัวย่อ Dat. คือ กรณีที่คำนั้นเป็นกรรมรองของประโยค เช่น
Ich schicke dir einen Brief.
ซึ่ง dir (คุณ) มาจาก du เป็นกรรมรอง ที่ไม่ได้รับการกระทำโดยตรง
และมี (der) einen Brief ที่เป็นกรรมตรงในกรณีนี้
ตั้งคำถามด้วย Wem? Mit wem? หรือ Bei wem?

ตัวอย่างประโยคของ Dativ

Ich schicke dir einen Brief. ฉันส่งจดหมายหาเธอ
เธอเป็นกรรมรอง และจดหมายเป็นกรรมที่ถูกกระทำโดยตรงในประโยคนี้
เมื่อเป็นคำถาม 👉 Wem schicke ich einen Brief? ฉันส่งจดหมายหาใคร
ตอบ Dir.

Meine Mutter kauft mir ein Handy. แม่ซื้อโทรศัพท์มือถือให้ฉัน
เมื่อเป็นคำถาม 👉 Wem kauft meine Mutter ein Handy? แม่ฉันซื้อโทรศัพท์มือถือให้ใคร
ตอบ Mir.

เมื่อในประโยคหนึ่งมีคำนาม 2 คำ คือทั้งคน และสิ่งของ

คำนามที่เป็นสิ่งของจะเป็นกรรมตรง และอยู่ในกรณี Akkusativ เสมอ
ส่วนคำนามที่เป็นบุคคล จะเป็นกรรมรองและอยู่ในกรณี Dativ เช่น
Ich (Nominativ) gebe meinem Freund (Dativ)einen Stift. (Akkusativ)
ฉันเอาดินสอให้แฟน

ตาราง Dativ

mir 👉 ฉัน
dir 👉 เธอ
ihm 👉 เขาผู้ชาย
ihr 👉 เขาผู้หญิง
ihm 👉 มัน หรือคำนามที่เป็นเพศกลาง
Ihnen 👉 คุณ (รูปสุภาพ)
uns 👉 พวกเรา
euch 👉 พวกเธอ
ihnen 👉 พวกเธอ

bestimmter Artikel

dem 👉 maskulin
dem 👉 neutral
der 👉 feminin
den 👉 plural

unbestimmter Artikel

einem 👉 maskulin
einem 👉 neutral
einer 👉 feminin

อย่าสับสนว่า ทำไมอยู่ๆคำนำหน้าคำนามของ feminin ถึงกลายเป็น der ไปได้ ทั้งๆที่ควรเป็นจะ die
ทำไม die Frau กลายเป็น der Frau ไปได้นะ?
นั้นเป็นเพราะว่าคำนามนั้น กำลังทำหน้าที่เป็นกรรมรองในประโยคนั้นอยู่ จึงเป็น der แต่การผันคำนำหน้าคำนามนี้ ไม่ได้ทำให้เพศของคำนามเปลี่ยนไปแต่อย่างใด คำนามนั้นจะยังคงมีเพศเดิมอยู่เสมอ

der Akkusativ

ตัวย่อ Akk. คือ กรณีที่คำนั้นเป็นกรรมตรงของประโยค เช่น Ich sehe einen Mann. ซึ่ง (der) Mann เป็นกรรมที่ได้รับผลโดยตรงหรือถูกเรามองเห็นในกรณีนี้ ใน Akkusativ จะตั้งประโยคคำถามด้วย Wen oder was? หรือ Für wen?

ตัวอย่างประโยคของ Akkusativ

Ich sehe einen Mann ฉันมองเห็นผู้ชายคนนั้น
ผู้ชายคนนั้นเป็นกรรมตรง
เมื่อเป็นคำถาม 👉 Wen sehe ich? ฉันมองเห็นใคร
ตอบ Einen Mann.

Wir suchen den Ball พวกเรา(มอง)หาลูกบอล
เมื่อเป็นคำถาม 👉 Was suchen wir? เรากำลังหาอะไร
ตอบ Den Ball.

ตาราง Akkusativ

mich 👉 ฉัน
dich 👉 เธอ
ihn 👉 เขาผู้ชาย
sie 👉 เขาผู้หญิง
es 👉 มัน หรือคำนามที่เป็นเพศกลาง
Sie 👉 คุณ (รูปสุภาพ)
uns 👉 พวกเรา
euch 👉 พวกเธอ
sie 👉 พวกเธอ

bestimmter Artikel

den 👉 maskulin
das 👉 neutral
die 👉 feminin
die 👉 plural

unbestimmter Artikel

einen 👉 maskulin
ein 👉 neutral
eine 👉 feminin

ใน Akkusativ คำนำหน้าคำนาม Artikel จะมีการเปลี่ยนรูปแค่ในเพศชาย (maskulin) เท่านั้น นอกนั้นจะยังคงรูปเดิมอยู่ในเพศกลาง (neutral - ein) และ เพศหญิง (feminin - eine)

der Kasus der Nominativ der Genitiv der Dativ der Akkusativ